ต้นจามจุรี
ต้นไม้ประจำจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา และโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ชื่อวิทยาศาสตร์ - Samanea saman (Jacq.) Merr.
ชื่ออื่นๆ - ก้ามกราม (กลาง) ก้ามกุ้ง (กทม.,อุตรดิตถ์) ก้ามปู (กทม.,พิษณุโลก) ฉำฉา (กลาง,เหนือ) ตุ๊ดตู่ (ตราด) ลัง (เหนือ) สารสา (เหนือ) สำสา (เหนือ) เส่คุ่ (กะเหรี่ยง แม่ฮ่องสอน) และ เส่ดู่ (กะเหรี่ยง แม่ฮ่องสอน)
ชื่ออื่นๆ (อังกฤษ) - Rain Tree, East Indian Walnut, Monkey Pod
ลักษณะทั่วไป
เป็นพืชในวงศ์ถั่ว ไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ สูง 15-20 เมตร มีกิ่งก้านสาขามาก มีใบขนาดเล็ก ดอกสีชมพู มีผลเป็นฝัก เมล็ดแข็ง ผลมีเนื้อสีชมพู รสหวานสัตว์เคี้ยวเอื้องชอบกินเป็นอาหาร
ใบ - เป็นใบผสมแบบขนนกสองชั้นทั้งใบยาวประมาณ 25-40 เซนติเมตร ใบประกอบด้วยช่อใบ 4 คู่ ใบย่อย 2-10 คู่ ต่อหนึ่งใบ ใบย่อยเกิดบนก้านใบซึ่งแยกจากก้านใหญ่ ใบย่อยรูปขนานเปียกปูนแต่เบี้ยว ใบย่อยด้านปลายใบใหญ่ที่สุดใบย่อยหนาปานกลาง ด้านหน้าใบสีเขียวเข้มเป็นมัน ด้านหลังใบสีเขียวนวล และมีขนเล็กน้อย
ดอก - เป็นช่อดอกทรงกลม แต่ละช่อรวมกันเป็นช่อใหญ่ ช่อดอกเกิดที่ปลายกิ่ง กลีบดอกเล็กมาก แต่ละช่อดอกมีดอกตัวเมียดอกเดียว และล้อมรอบด้วยดอกตัวผู้เป็นจำนวนมาก ดอกบานมีสีชมพูซึ่งเป็นสีของเกสรตัวผู้ จามจุรีออกดอกระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-พฤษภาคม
ผล - เป็นฝักแบนเมื่อแก่ก็จะไม่แตก ฝักแก่จะมีสีน้ำตาลดำขนาดกว้าง 1.5-2 เซนติเมตร ยาว 12-20 เซนติเมตร ภายในฝักมีเนื้อนิ่มรสหวาน ฝักหนึ่งๆ มีเมล็ด 15-25 เมล็ด เมล็ดสีน้ำตาลดำยาว 0.5-0.8 เซนติเมตร ฝักแก่ระหว่างเดือนตุลาคม-มกราคม
ประโยชน์
ทางด้านเนื้อไม้
ในปัจจุบันเนื้อไม้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมแกะสลักไม้ภาคเหนือ ซึ่งมีการดำเนินงานในรูปสหกรณ์หัตถกรรมไม้ วัตถุดิบ นอกจากไม้จามจุรีคือไม้สักมีราคาแพงและหายากทำให้ไม้จามจุรีจึงมีบทบาทในการทดแทนไม้สักได้มากขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากไม้จามจุรี ราคาถูกสามารถหาได้ง่ายกว่าไม้สัก เนื้อไม้มีแก่นสีดำคล้ำสวยงาม เมื่อขัดตกแต่งจะขึ้นเงาแวววาว เป็นที่ต้องการของผู้บริโภคทุกระดับทั่วไป เนื่องจากความชื้นในไม้จามจุรีมีมาก ทำให้เกิดปัญหาไม้แตกในระหว่างการแกะสลักหรือหลังจากเป็นผลิตภัณฑ์ วิธีแก้ไข คือ การอบไม้โดยค่อยๆ เพิ่มอุณหภูมิจนกระทั่งไม่มีความชื้นหรือใกล้เคียงกับบรรยากาศทั่วไป
มูลค่าของไม้แกะสลักที่จำหน่ายจะสูงกว่ามูลค่าไม้แปรรูปเพียงใด ขึ้นอยู่กับประเภทและชนิดของไม้แกะสลัก ในเรื่องนี้ไม้จามจุรีจะด้อยกว่าไม้สัก และมูลค่าของไม้แกะสลักจะสูงกว่าไม้แปรรูปถึง 3 เท่า ในปี พ.ศ. 2521 มูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ไม้แกะสลักสูงถึง 300 ล้านบาท
ทางด้านอื่นๆ
- จามจุรีเป็นแม่ไม้ที่ใช้เลี้ยงครั่งได้ผลดีมากชนิดหนึ่งโดยเฉพาะชนิดที่มีดอกสีชมพูเปลือกสีเทาดำ ใบเขียวเข้ม ครั่งจะจับได้ดี ไม้ชนิดนี้สามารถเลี้ยงครั่งทั้งรอบฤดูร้อนและฤดูฝน แต่ผลผลิตครั่งที่ได้ปริมาณมาก คือ ครั่งที่ตัดเก็บในเดือน พฤศจิกายน – ธันวาคม คุณภาพของครั่งไม้ก้ามปูมีทั้งชั้นคุณภาพ A และ B ผลผลิตครั่งที่ตัดเก็บได้ประมาณ 5 – 10 กิโลกรัม ต่อต้นเมื่ออายุ 6 ปี ในเนื้อที่ 1 ไร่ หากต้นจามจุรีมีอายุตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไปจะได้ผลผลิตครั่งประมาณ 10 – 50 กิโลกรัม ต่อต้นหรือมากกว่านั้น (น้ำหนักครั่งดิบ)
- เป็นอาหารสัตว์ ใบและฝักมีคุณประโยชน์มาก สำหรับ วัว ควาย ซึ่งมักจะชอบกินใบเขียวและใบอ่อน ฝักจะมีเนื้อที่มีสีน้ำตาลกล่าวว่าถ้าเลี้ยงแม่วัวที่รีดนม อาจทำให้นมมีคุณภาพดีขึ้น ฝักแก่ราวเดือนมีนาคม สามารถเก็บรักษาไว้เลี้ยงวัวควายได้ในกรณีหาหญ้าฟางได้ยากหรือมีราคาแพง ส่วนผสมของฝักมีคูณค่าดีเท่ากับหญ้าแห้งในการใช้เลี้ยงสัตว์ นอกจากนี้เนื้อในของฝักแก่ที่มีสีน้ำตาลยังสามารถใช้หมักเพื่อผลิตแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ ปรากฏว่าฝัก 100 กิโลกรัม จะได้แอลกอฮอล์ราว 11.5 ลิตร และฝักนั้นมีผู้นำไปใส่น้ำต้มรับประทานแบบน้ำชา มีรสหวาน ประแล่มๆ
- ปรับปรุงสภาพดินเลวให้ดีขึ้น เนื่องจากเป็นพืชตระกูลถั่วจึงมีคุณสมบัติในการปรับปรุงคุณภาพของดินให้ดีขึ้น ใบใช้ทำปุ๋ยหมักได้ โดนเฉลี่ยมีไนโตรเจนถึงร้อยละ 3.25
- เป็นไม้ประดับยืนต้น ที่สวยงามเนื่องจากเรือนยอดแผ่กว้างทั้งยังให้ร่มเงาที่ร่มเย็น เนื่องจากใบเป็นใบประกอบแบบผสมแบบขนนก ค่อนข้างใหญ่และอยู่ชิดกัน เมื่อพระอาทิตย์ตกดินใบจะหุบเข้าหากันครั้นรุ่งเช้าก็จะคลี่ขยายใบออก เพื่อเป็นการช่วยให้น้ำค้างที่ดินอยู่ตามกิ่งก้านหยดลงถึงพื้นดิน บรรดากล้วยไม้ที่เกาะติดอยู่ตามลำต้นและเฟิร์นที่อยู่ตามพื้นดินภายใต้ร่มเงาของจามจุรีจึงเจริญเติบโตได้ดี
- คุณสมบัติทางด้านเคมี ต้นจามจุรีมีสารจำพวกแอลคาลอยด์ ซึ่งมีชื่อว่า พิธทิโคโลไบพบตามเปลือก ใบ เมล็ดและเนื้อไม้ แต่ที่ใบมีสารที่เป็นพิษอยู่มากเพราะประกอบด้วยแอลคาลอยด์ที่เป็นพิษอยู่มาก เพราะประกอบด้วยแอลคาลอยด์ที่เป็นน้ำมัน อนุพันธ์ที่สังเคราะห์ได้จะไปตกผลึกพิธทิโคโลไบ เป็นแอลคาลอยด์ที่มีพิษเป็นยาสลบซึ่งมีคุณสมบัติไปทำลายปลายประสาท
สถานที่พบ - บริเวณสวนศึกษา 1 ต้น และบริเวณประตูด้านศาลพระภูมิ 1 ต้น
ขอขอบคุณข้อมูลจาก