 |
ไทย / ENG
"วิชาศิลปะเป็นพื้นฐานสำคัญ ทำให้เยาวชนไทยได้พัฒนาทักษะความคิดสร้างสรรค์ สุนทรียศาสตร์และบุคลิกภาพ นำไปสู่การเป็นบุคคลที่มีความสมบูรณ์ทางด้านสติปัญญา ความคิด อารมณ์และสังคม"
จากแนวคิดดังกล่าว ทำให้กลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ โรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ฝ่ายมัธยม พัฒนาหลักสูตรโดยคำนึงถึงพัฒนาการของตัวนักเรียนเป็นสำคัญ นอกจากจะพยายามจัดกิจกรรมการสอนให้นักเรียนได้เรียนรู้ตามช่วงวัยเรียนแล้ว ยังพัฒนาศักยภาพของนักเรียนด้วยกิจกรรมทางศิลปะที่หลากหลาย เปิดโอกาสให้นักเรียนได้ฝึกทักษะปฏิบัติโดยได้รับแรงบันดาลใจจากผลงานของศิลปินที่มีชื่อเสียง รวมถึงการสร้างงานศิลปะของตนเอง แสดงออกอย่างสร้างสรรค์ แต่การสร้างความภาคภูมิใจในผลงานของตัวเองและกระตุ้นให้เกิดพัฒนาการในการสร้างงานศิลปะที่ดีขึ้นนั้น จำเป็นต้องมีพื้นที่แสดงออกที่เหมาะสมด้วยเช่นกัน
ดังนั้น โรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ฝ่ายมัธยม ซึ่งให้ความสำคัญกับการพัฒนาของนักเรียนมาโดยตลอด จึงได้จัดนิทรรศการศิลปกรรมนักเรียน ครั้งที่ 14 ภายใต้แนวคิด “Limitless” ผ่านรูปแบบนิทรรศการเสมือนจริง (Virtual exhibition) เพื่อแสดงออกถึงศักยภาพในการสร้างงานศิลปะที่หลากหลายของนักเรียนสาธิตจุฬาฯ โดยแนวคิด Limitless นั้น สอดคล้องกับแนวทางการแสดงออกทางศิลปะของนักเรียน เต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ มีอิสระและไร้ขอบเขต
เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ทำให้โรงเรียนไม่สามารถจัดงานในรูปแบบเดิมได้ แต่นับเป็นโอกาสอันดีและเป็นครั้งแรก ที่มีการจัดแสดงผลงานศิลปะในรูปแบบนิทรรศการเสมือนจริง นับเป็นมิติใหม่ในการแสดงงานของนักเรียนสาธิตจุฬาฯ นอกจากนี้ รายได้ส่วนหนึ่งจากการจำหน่ายผลงาน จะบริจาคให้กับโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ เพื่อนำไปสร้างอาคารเรียนสาธิตจุฬาฯ ฝ่ายมัธยมต่อไป
|
เทคนิคและวิธีการแสดงออกทางทัศนศิลป์ที่ถูกจัดแสดง
|
 |
Drawing
Drawing, Drawing point
|
การให้นักเรียนได้ฝึกปฏิบัติการวาดเส้นและการใช้จุด เป็นพื้นฐานของการถ่ายทอดน้ำหนักและแสดงถึงความเข้าใจในเรื่องของแสงเงา ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการเรียนในการกำหนดโครงสร้าง การร่างแบบและแสดงถึงความเข้าใจด้านการแทนค่าของสีในธรรมชาติ มาเป็นค่าน้ำหนักขาวดำโดยแท้ โดยผู้สอนนำเนื้อหาทางทัศนศิลป์ทั้งทางด้านสิ่งแวดล้อมหรือประวัติศาสตร์ศิลปะต่างๆ มาใช้เป็นแนวคิดหลักเพื่อให้นักเรียนได้เลือกนำเสนอวิธีการ เพื่อสื่อถึงการแสดงออกทักษะด้านการวาดเส้นที่เหมาะสม
|
 |
Digital Painting
วาดเส้นผ่านเทคโนโลยี Animation Doodle art
|
หลายปีที่ผ่านมา เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในการเรียนศิลปะมากขึ้น รวมถึงการถูกบรรจุไว้ในหลักสูตรศิลปะด้วยเช่นกัน ผู้สอนจึงเปิดโอกาสให้นักเรียนได้มีทางเลือกเพิ่มเติมขึ้นมา เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้และฝึกทักษะปฏิบัติด้านนี้ได้อย่างเต็มที่ ด้วยการให้นักเรียนได้วาดภาพด้วยเทคโนโลยี ในโปรแกรมสนับสนุนการสร้างสรรค์งานต่างๆ รวมถึงการสร้างงานภาพเคลื่อนไหว (Animation) และงานออกแบบลายเส้นตามจินตนาการ (Doodle Art)
|
 |
Painting
เทคนิคสีโปสเตอร์ สีพาลเทล สีอะคลิลิค เทคนิคผสม
|
จิตรกรรมเป็นรูปแบบสำคัญหนึ่งของทัศนศิลป์ เป็นเทคนิคทางศิลปะขั้นแรกที่ผู้สอนนำมาใช้ในการสอนศิลปะ สามารถใช้เป็นกิจกรรมเพื่อให้เห็นว่านักเรียนเข้าใจเกี่ยวกับทัศนธาตุทุกด้าน ฝึกการถ่ายทอดในสิ่งที่มองเห็นโดยเริ่มจากสิ่งแวดล้อมรอบตัวเป็นแรงบันดาลใจพื้นฐาน จนถึงการวาดภาพสร้างสรรค์ รวมถึงสื่อวัสดุที่ผู้สอนเริ่มนำมาใช้กับนักเรียน เช่น เทคนิคสีโปสเตอร์บนกระดาษ ปรับเปลี่ยนเป็นการใช้สีพาลเทล การเขียนสีอะคลิลิคบนผ้าใบ รวมถึงเทคนิคผสม
|
 |
Sculpture
ฉลุกระดาษ ประติมากรรมกระดาษ ประติมากรรมกระดาษนูนต่ำ
|
อาจเป็นเรื่องยาก ถ้าต้องให้นักเรียนสร้างงานประติมากรรมตามรูปแบบตามขั้นตอนของศิลปิน เมื่อผู้สอนได้สอนตามที่หลักสูตรกำหนดและพยายามให้นักเรียนได้สร้างสรรค์งานประติมากรรมในชั้นเรียนตามความเหมาะสม ผู้สอนจึงได้นำวัสดุหลักที่หาง่ายนั่นคือ กระดาษ มาเป็นตัวกำหนดวิธีการสร้างผลงานผ่านกิจกรรมฉลุกระดาษ ประติมากรรมกระดาษ ประติมากรรมกระดาษนูนต่ำ ทั้งนี้ ผลงานของนักเรียนยังเต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์และแสดงออกถึงความเข้าใจในเรื่องของปริมาตร น้ำหนัก ได้เป็นอย่างดี
|
 |
Design
Poster Design, Logo Design, Product Design, Model, Character Design
|
การถ่ายทอดรูปแบบจากความคิดออกมาเป็นผลงานที่ผู้อื่นสามารถมองเห็น รับรู้ หรือสัมผัสได้ เพื่อให้มีความเข้าใจในผลงานร่วมกัน ในแง่ของการวางแผนการการทำงาน งานออกแบบจะช่วยให้การทำงานเป็นไปตามขั้นตอนอย่างเหมาะสม ดังนั้นการสอนและการให้นักเรียนได้เรียนและปฏิบัติการออกแบบ จึงเป็นกระบวนการทางทัศนศิลป์ที่ครบวงจรผ่านการออกแบบกราฟิก การผสมผสานกับเนื้อหาทางประวัติศาสตร์ศิลปะในงาน Product Design และงาน Poster Design การสร้าง Model การใช้เทคโนโลยีผ่านงาน Character Design และการออกแบบแบรนด์จากการสร้างแม่พิมพ์อย่างง่าย Logo Design
|
 |
ภาพพิมพ์
Re-product, Stencil ภาพพิมพ์ฉลุ ภาพพิมพ์เศษวัสดุ
|
การพิมพ์ภาพ เป็นกระบวนการทางศิลปะที่สำคัญที่นักเรียนควรได้รับการฝึกปฏิบัติเพื่อเรียนรู้การทำงานแบบเป็นขั้นตอน ซึ่งในช่วง 2 ปีจาก Covid-19 อาจมีอุปสรรคอยู่บ้างในด้านอุปกรณ์เฉพาะด้านที่ใช้ในการพิมพ์เพราะเป็นอุปกรณ์เฉพาะทาง กระนั้นทีมผู้สอนได้ปรับกระบวนการการพิมพ์ภาพอย่างง่าย ตามเทคนิคการพิมพ์พื้นฐาน ผ่านกิจกรรมพิมพ์ภาพ Stencil การพิมพ์ด้วยเศษวัสดุ รวมถึงการพิมพ์โดยใช้แรงบันดาลใจจากผลงานศิลปะ
|